สิทธิมนุษยชนในยุค AI: เมื่อความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพถูกท้าทาย
/in ข่าวเมื่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แม้จะมอบความสะดวกสบายและประสิทธิภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับเรา แต่ก็มาพร้อมกับคำถามสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่กำลังถูกท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง Artificial Intelligence (AI) มีความสามารถมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง จนสามารถนำมาใช้กันได้อย่างกว้างขวาง
วันนี้ทุก ๆ ธุรกิจไม่ว่าจะขายสินค้าหรือบริการต่างมีความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ด้วยเหตุผลต้องการสร้างและเพิ่มผลกำไรขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐเอง แม้มีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องการข้อมูลของประชาชนเพิ่มมากขึ้นเพื่อการวางแผน การจัดการและการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งการทำให้ต้องมีเครื่องมือที่มาช่วยในการจัดการกับข้อมูล และความต้องการของหน่วยงาน เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง AI และ Big Data จึงกลายเป็นคำตอบของหน่วยงานเหล่านี้
ภายใต้ความสะดวกสบายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มี AI เป็นตัวขับเคลื่อน ประชาชนและผู้บริโภคต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัว เช่น ความสะดวกที่มาพร้อมกับการเฝ้าติดตาม แอปพลิเคชันที่แนะนำร้านอาหาร เพลง หรือสินค้าที่ “ตรงใจ” เราที่สุด เพราะวิเคราะห์พฤติกรรมของเราอย่างละเอียด การบริการที่เป็นส่วนตัวแต่แลกมาด้วยข้อมูลชีวิต การต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจำนวนมาก และความปลอดภัยที่มาพร้อมการถูกจับตามอง เมื่อกล้องวงจรปิดอัจฉริยะที่ใช้ระบบจดจำใบหน้า แม้จะเพิ่มความปลอดภัย แต่ก็หมายถึงการถูกติดตามทุกย่างก้าว
ข้อมูลส่วนบุคคล คือ สินทรัพย์ล้ำค่าในยุค AI เพราะข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกเก็บรวบรวมมีหลากหลายระดับ ข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ การค้นหาข้อมูล การกดไลก์และแชร์โพสต์ ประวัติการช้อปปิ้ง เส้นทางการเดินทาง ข้อมูลละเอียดอ่อน ประวัติสุขภาพ ความเชื่อทางศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฟรีและจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการนั้น
เมื่อขอบเขตของการ AI ไม่ได้ใช้เพื่อการเก็บข้อมูลพื้นฐาน หรือวิเคราะห์ในระดับมหภาค แต่นำมาวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจประชาชนและผู้บริโภคในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ทำให้เข้าใจรูปแบบการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้อื่น สภาวะทางอารมณ์แนวโน้มการตัดสินใจ ทำให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเราในรูปแบบที่แนบเนียน การสร้างความเชื่อและทัศนคติ แสดงเนื้อหาที่เลือกสรรตามความชอบ สร้าง Echo Chamber ที่ตอกย้ำความเชื่อเดิม นำเสนอโฆษณาที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การควบคุมทางสังคม ระบบให้คะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม การตรวจจับและควบคุมการแสดงออกทางความคิด การติดตามพฤติกรรมในที่สาธารณะ
ผลกระทบที่มองไม่เห็น เมื่อประชาชนและผู้บริโภคอาจจะสูญเสียความเป็นส่วนตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน การถูกเลือกปฏิบัติจากการวิเคราะห์ข้อมูล การถูกจำกัดโอกาสโดยไม่รู้ตัว ความเครียดจากการถูกติดตามตลอดเวลา การสูญเสียอิสระในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการถูกหน่วยงานเอกชนและรัฐ นำข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปใช้เพื่อพัฒนา AI โดยที่เราไม่รู้ และไม่ถูกต้อง ผ่านบริการของผู้ให้บริการ AI ที่มีอยู่ในรูปแบบฟรีหรือจ่ายเงิน โดยไม่ระแวดระวังต่อการหลุดรั่วข้อมูลส่วนบุคคลออกไปมากยิ่งขึ้น
การปกป้องสิทธิในยุค AI จึงจำเป็นต้องมีกรอบกฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งในสหภาพยุโรป นอกจากกฎหมาย GDPR ที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีการออกกฎหมายกำกับดูแล AI เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนในประเทศไทยในแม้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA แต่ยังไม่มีการส่งสัญญาณเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลกับ AI ออกมา แม้ว่าจะมีการออกแนวทางการกำกับ AI โดยหน่วยงานอย่างสำนักงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA แต่ก็เป็นแนวทางที่ไม่ได้มีผลผูกพันทางด้านกฎหมายกับองค์กรต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าองค์กรต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาหรือนำ AI มาใช้ในองค์กรต้องเพิ่มความตระหนัก และความระแวดระวังในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI รวมทั้งการตรวจสอบและประเมินผลกระทบจากการพัฒนาหรือการใช้ AI ที่มีต่อประชาชนหรือผู้บริโภค
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ประชาชนเรื่องผลกระทบของ AI ควบคู่กับประโยชน์ สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของข้อมูลส่วนบุคคล และเสริมสร้างทักษะการปกป้องตนเอง เช่น การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว การใช้เครื่องมือปกป้องข้อมูล และการจัดการความยินยอมอย่างเหมาะสม
การสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของ AI และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นความท้าทายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิของประชาชน