Entries by Pichitchai Sangnak

PDPA GURU: Internal Audit

  คุณรู้หรือไม่? ว่าการทำตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ในองค์กร มีหลายมิติที่ต้องให้ความสำคัญ และไม่ใช่โครงการที่ “ทำครั้งเดียวจบ” เพราะกฎหมายยังมีอัปเดตหลักการ รวมถึงกฏหมายลำดับรองเป็นประจำ

เพื่อให้องค์กรสามารถปฏิบัติได้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนดอย่างแท้จริง

   ทักษะ “การตรวจประเมิน” ความสอดคล้องตามมาตรฐานกฎหมาย PDPA จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ องค์กรของคุณมั่นใจเกี่ยวกับความเสี่ยงด้าน PDPA และจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงนั้น หาคำตอบได้ที่เสวนา…

“Are You Ready? ผู้ตรวจสอบภายในพร้อมแค่ไหนที่จะช่วยลดความเสี่ยงขององค์กรด้าน PDPA” กับประเด็นสุด Exclusive เกี่ยวกับ Internal Audit ที่ไม่ควรพลาด

หัวข้อเสวนา

1. ความเชื่อมโยงของการตรวจสอบภายในเรื่อง Data Protection กับ Data Governance
2. แนะแนวปฏิบัติเพื่อทำตามข้อบังคับและกฎหมาย
3. การตรวจสอบ (Audit) ที่สนับสนุนการทำ PDPA และกรณีศึกษา

พิเศษ! แจกฟรี Checklist ตรวจประเมินตนเององค์กรด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

กำหนดการ

– วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 l 13.30 – 15.30 น.
– ผ่านระบบ VDO Conference ZOOM

เสวนาโดย

– ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร: นายกสมาคม TPDPA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DBC Group และผู้ก่อตั้ง PDPA Thailand
– อาจารย์สุกฤษ โกยอัครเดช: เลขาธิการ และประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์สมาคม TPDPA และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปรึกษาและสอบทาน DBC Group
– อาจารย์ณัฏฐ์ ธนวนกุล: กรรมการและประธานฝ่ายพัฒนามาตรฐานวชาชีพ สมาคม TPDPA ที่ปรึกษาและวิทยากรสถาบัน DDTI
– อาจารย์ธีระพันธุ์ จันทร์แก้ว: Assistant Vice President System Certification Department สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) 

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง

สมาคมที่ปรึกษาและสอบทานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย (TPDPA)    ร่วมกับ PDPA Thailand (บริหารงานโดย DBC Group) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) 

“ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเต็มจำนวนแล้ว ท่านสามารถลงทะเบียนรับฟังเสวนาย้อนหลังและรับเอกสารแจก (แบบประเมินการปฏิบัติตาม PDPA) ผ่านทางอีเมลที่ลงทะเบียน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568”

สมาคมผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (TPDPA) ร่วมหารือกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสู่สากล

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 – คุณสุกฤษ โกยอัครเดช Ans Sukris Koyakradej เลขาธิการสมาคมและประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ร่วมกับ คุณดวงดาว สำนองสุข กรรมการและประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สมาคม TPDPA เดินทางเข้าพบ ดร.โรลันด์ ไวน์ กรรมการบริหาร และคุณสุพิน พรายมี ผู้จัดการฝ่ายกิจการทั่วไป หอการค้าเยอรมัน-ไทย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
 
นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มในการเปิด Training Session ร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย

สิทธิมนุษยชนในยุค AI: เมื่อความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพถูกท้าทาย

เมื่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แม้จะมอบความสะดวกสบายและประสิทธิภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับเรา แต่ก็มาพร้อมกับคำถามสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่กำลังถูกท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง Artificial Intelligence (AI) มีความสามารถมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง จนสามารถนำมาใช้กันได้อย่างกว้างขวาง 

วันนี้ทุก ๆ ธุรกิจไม่ว่าจะขายสินค้าหรือบริการต่างมีความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ด้วยเหตุผลต้องการสร้างและเพิ่มผลกำไรขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐเอง แม้มีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องการข้อมูลของประชาชนเพิ่มมากขึ้นเพื่อการวางแผน การจัดการและการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งการทำให้ต้องมีเครื่องมือที่มาช่วยในการจัดการกับข้อมูล และความต้องการของหน่วยงาน เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง AI และ Big Data จึงกลายเป็นคำตอบของหน่วยงานเหล่านี้

ภายใต้ความสะดวกสบายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มี AI เป็นตัวขับเคลื่อน ประชาชนและผู้บริโภคต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัว เช่น ความสะดวกที่มาพร้อมกับการเฝ้าติดตาม แอปพลิเคชันที่แนะนำร้านอาหาร เพลง หรือสินค้าที่ “ตรงใจ” เราที่สุด เพราะวิเคราะห์พฤติกรรมของเราอย่างละเอียด การบริการที่เป็นส่วนตัวแต่แลกมาด้วยข้อมูลชีวิต การต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจำนวนมาก และความปลอดภัยที่มาพร้อมการถูกจับตามอง เมื่อกล้องวงจรปิดอัจฉริยะที่ใช้ระบบจดจำใบหน้า แม้จะเพิ่มความปลอดภัย แต่ก็หมายถึงการถูกติดตามทุกย่างก้าว

ข้อมูลส่วนบุคคล คือ สินทรัพย์ล้ำค่าในยุค AI เพราะข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกเก็บรวบรวมมีหลากหลายระดับ ข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ การค้นหาข้อมูล การกดไลก์และแชร์โพสต์ ประวัติการช้อปปิ้ง เส้นทางการเดินทาง ข้อมูลละเอียดอ่อน ประวัติสุขภาพ ความเชื่อทางศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฟรีและจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการนั้น 

เมื่อขอบเขตของการ AI ไม่ได้ใช้เพื่อการเก็บข้อมูลพื้นฐาน หรือวิเคราะห์ในระดับมหภาค แต่นำมาวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจประชาชนและผู้บริโภคในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ทำให้เข้าใจรูปแบบการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้อื่น สภาวะทางอารมณ์แนวโน้มการตัดสินใจ ทำให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเราในรูปแบบที่แนบเนียน การสร้างความเชื่อและทัศนคติ แสดงเนื้อหาที่เลือกสรรตามความชอบ สร้าง Echo Chamber ที่ตอกย้ำความเชื่อเดิม นำเสนอโฆษณาที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การควบคุมทางสังคม ระบบให้คะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม การตรวจจับและควบคุมการแสดงออกทางความคิด การติดตามพฤติกรรมในที่สาธารณะ

ผลกระทบที่มองไม่เห็น เมื่อประชาชนและผู้บริโภคอาจจะสูญเสียความเป็นส่วนตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน การถูกเลือกปฏิบัติจากการวิเคราะห์ข้อมูล การถูกจำกัดโอกาสโดยไม่รู้ตัว ความเครียดจากการถูกติดตามตลอดเวลา การสูญเสียอิสระในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการถูกหน่วยงานเอกชนและรัฐ นำข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปใช้เพื่อพัฒนา AI โดยที่เราไม่รู้ และไม่ถูกต้อง ผ่านบริการของผู้ให้บริการ AI ที่มีอยู่ในรูปแบบฟรีหรือจ่ายเงิน โดยไม่ระแวดระวังต่อการหลุดรั่วข้อมูลส่วนบุคคลออกไปมากยิ่งขึ้น

การปกป้องสิทธิในยุค AI จึงจำเป็นต้องมีกรอบกฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งในสหภาพยุโรป นอกจากกฎหมาย GDPR ที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีการออกกฎหมายกำกับดูแล AI เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนในประเทศไทยในแม้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA แต่ยังไม่มีการส่งสัญญาณเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลกับ AI ออกมา แม้ว่าจะมีการออกแนวทางการกำกับ AI โดยหน่วยงานอย่างสำนักงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA แต่ก็เป็นแนวทางที่ไม่ได้มีผลผูกพันทางด้านกฎหมายกับองค์กรต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าองค์กรต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาหรือนำ AI มาใช้ในองค์กรต้องเพิ่มความตระหนัก และความระแวดระวังในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI รวมทั้งการตรวจสอบและประเมินผลกระทบจากการพัฒนาหรือการใช้ AI ที่มีต่อประชาชนหรือผู้บริโภค

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ประชาชนเรื่องผลกระทบของ AI ควบคู่กับประโยชน์ สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของข้อมูลส่วนบุคคล และเสริมสร้างทักษะการปกป้องตนเอง เช่น การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว การใช้เครื่องมือปกป้องข้อมูล และการจัดการความยินยอมอย่างเหมาะสม

การสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของ AI และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นความท้าทายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิของประชาชน

สิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล: มุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

“เราไม่เคยอยู่ตามลำพังในโลกดิจิทัล” เคยรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกจับจ้อง และเฝ้าติดตามตลอดเวลาไหม รู้สึกว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เขียน สิ่งที่พูดและสิ่งที่ทำ ล้วนแต่มีคนรู้ เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม มาทบทวนเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัลกันครับ

สิทธิความเป็นส่วนตัวจากอดีตเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 สหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อ 12 ได้รับรองสิทธิความเป็นส่วนตัวไว้อย่างชัดเจน แต่ในเวลานั้น ใครจะคาดคิดว่า 75 ปีต่อมา โลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากจนการละเมิดความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส จากยุคที่การละเมิดความเป็นส่วนตัวจำกัดอยู่ที่การแอบฟัง แอบอ่านจดหมาย หรือสอดส่องทางกายภาพ มาสู่ยุคที่ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกเก็บรวบรวมและวิเคราะห์อย่างละเอียดผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อทุกย่างก้าวถูกจับตามอง ในแต่ละวัน เราทิ้งร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint) ไว้มากมาย เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การโพสต์และแชทบนโซเชียลมีเดีย จะบ่งบอกความสนใจและความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่าง ๆ การช้อปปิ้งออนไลน์จะเผยพฤติกรรมการใช้จ่ายและรสนิยมของเรา การใช้แอปพลิเคชัน เปิดเผยกิจวัตรและไลฟ์สไตล์ของเรา ทุกการเดินทางและตำแหน่งที่อยู่ จะมี GPS ซึ่งจะเปิดเผยเส้นทางการเดินทาง หรือการเช็คอินสถานที่ จะเปิดเผยสถานที่ที่สนใจ การใช้บริการขนส่งผ่านแอป และการบันทึกเส้นทางประจำ ส่วนการค้นหาและการเรียนรู้ จะบันทึกประวัติการค้นหาบ่งบอกความสนใจและความกังวลของเรา การดูวิดีโอออนไลน์สะท้อนความชอบและทัศนคติต่าง ๆ และการอ่านข่าวสารแสดงมุมมองทางการเมืองและสังคม

กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของคนไทย หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยให้สิทธิสำคัญแก่เจ้าของข้อมูล ตั้งแต่สิทธิพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิในการรับรู้ (Right to be Informed) เพื่อทราบว่าใครเก็บข้อมูลอะไรไว้บ้าง สิทธิในการเข้าถึง (Right of Access) เพื่อขอดูข้อมูลของตนเองได้ และสิทธิในการแก้ไข (Right to Rectification) เพื่อแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ขณะเดียวกัน PDPA ยังให้สิทธิในการควบคุม ได้แก่ สิทธิที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten)เพื่อขอลบข้อมูลที่ไม่ต้องการ สิทธิในการคัดค้าน (Right to Object) เพื่อปฏิเสธการใช้ข้อมูลได้ และสิทธิในการเคลื่อนย้ายข้อมูล (Right to Data Portability) เพื่อโอนข้อมูลไปที่อื่นได้

แม้ว่าจะมี PDPA แต่การละเมิดสิทธิของคนไทยและการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยจากองค์กรของรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น โดยไม่มีแนวโน้มที่ลดลง โดยเฉพาะการละเมิดความเป็นส่วนตัว จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตของผู้คนจำนวนมาก เพราะเกิดการสวมรอยทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้ข้อมูลเพื่อหลอกลวงญาติและคนใกล้ชิด รวมทั้งการนำข้อมูลไปใช้ในการก่ออาชญากรรมอื่น ๆ

แต่เมื่อเทคโนโลยี AI มีความสามารถเพิ่มมากขึ้นและถูกนำมาใช้ได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งทำให้ AI มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ แต่ก็กำลังสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ในการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว เพราะ AI จะสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมและทำนายการตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น จะมีการนำระบบจดจำใบหน้าและท่าทางถูกใช้ในที่สาธารณะมากขึ้น มีการใช้กล้องวงจรปิดที่มี AI วิเคราะห์พฤติกรรม  มีการใช้ AI ในระบบติดตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ซับซ้อนขึ้น มีการใช้ AI การวิเคราะห์เสียงและการสนทนาแบบเรียลไทม์ หรือแม้แต่การใช้ AI สร้าง Deep Fake ที่สมจริงจนแยกแยะได้ยาก

  แนวทางปกป้องความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล สำหรับบุคคล การป้องกันเบื้องต้น เช่น การตรวจสอบและปรับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในทุกแพลตฟอร์ม การใช้รหัสผ่านที่ซับซ้อนและเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เปิดการยืนยันตัวตนสองชั้นในทุกบริการที่สำคัญ ส่วนการใช้งานออนไลน์อย่างปลอดภัย ควรระมัดระวังการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย ระวังในการเชื่อมต่อเครือข่ายสาธารณะ และหมั่นตรวจสอบประวัติการทำธุรกรรมและรายงานเครดิต นอกจากนี้ควรหมั่นศึกษาและทำความเข้าใจนโยบายความเป็นส่วนตัวก่อนใช้บริการ ระวังการหลอกลวงทางออนไลน์และการแอบอ้างตัวตน และรายงานเมื่อพบการละเมิดความเป็นส่วนตัว ขณะที่องค์กรต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลอย่างเคร่งครัด โดยให้ความสำคัญกับส่งเสริมให้บุคลากรขององค์กรตระหนักถึงสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่เหมาะสม

ความเป็นส่วนตัวคือรากฐานของเสรีภาพ ในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคมนี้ เราต้องตระหนักว่าสิทธิความเป็นส่วนตัวไม่ใช่เพียงเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย การปกป้องความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัลจึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน เพราะในโลกที่ข้อมูลคือพลัง การปกป้องความเป็นส่วนตัวคือการปกป้องเสรีภาพของเราทุกคน

TPDPA จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี แถลงผลการดำเนินงานและแสดงวิสัยทัศน์ในปีถัดไป

นอกจากนี้ยังมี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย”

สมาคมผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย (TPDPA) จัดการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อแถลงผลการดำเนินกิจการในปีที่ผ่านมา และทิศทางของสมาคมในปีถัดไป
 
และในวาระนี้มีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย” โดย อ.เธียรชัย ณ นคร – ประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีประเด็นสำคัญในเรื่องของกฎหมาย และข้อบังคับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยคำสั่งทางปกครอง, การประกาศกฎหมายลำดับรองฉบับใหม่, การเปิดเผยสถิติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่อสาธารณะ หรือจะเป็นเรื่องของจุดสมดุลระหว่าง AI กับกฎหมาย PDPA และการซื้อขายข้อมูลอย่างถูกต้องกับสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ที่ทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำลังขับเคลื่อนให้สัมฤทธิ์ผล

ติดต่อสมาคม

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาคมผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย (TPDPA)

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของสมาคม TPDPA
เพื่อแถลงผลการดำเนินงานและทิศทางของสมาคม

สมาคมผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย (TPDPA) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 เพื่อแถลงผลการดำเนินงานและทิศทางของสมาคมฯ เนื่องด้วยสมาคมฯ มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ณ วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. อาคารปฏิบัติการวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยในวาระนี้มีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย” โดย อ.เธียรชัย ณ นคร

กำหนดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี

วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567

09.30 น. – 10.00 น. : ลงทะเบียน

10.00 น. – 10.30 น. : ปาฐกถาพิเศษ โดย นายเธียรชัย ณ นคร ประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง “ทิศทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย”

10.30 น. – 11.30 น. : ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567

วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ

วาระที่ 2 เรื่องเพื่อทราบ

2.1 แถลงผลการดำเนินกิจการของสมาคมฯ

2.2 ทิศทางของสมาคมฯ ปี 2567 – 2568

วาระที่ 3 เพื่อพิจารณา

3.1 รับรองงบการเงิน

3.2 พิจารณาผู้ตรวจสอบบัญชีและค่าใช้จ่าย

3.3 แก้ไขตำแหน่งของกรรมการบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ

วาระที่ 4 อื่นๆ

ตอบข้อซักถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

11.30 น. – 12.00 น. : ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

12.00 น. : ปิดการประชุม 

หมายเหตุ: – กำหนดการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

อาคารวิศวกรรมอุตสาหการ ชั้น 10 ห้อง 71003 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) แขวงลาดยาว เขตจตุจักร จังหวัดกรุงเทพฯ

ติดต่อสมาคม